ขายกรมธรรม์ออนไลน์
ขายกธ.ประกันภัยทางทะเล
ขายกรมธรรม์ e-policy
Teamviewer 8
(Download)
Marine List
หน้าแรก    |    ร่วมงานกับเรา    |    ตัวแทนขาย
  • ก
  • ก
  • ก
  • ก
   กำลังโหลดข้อมูล...

ร่วมงานกับ BUI

ศูนย์รับแจ้งอุบัติเหตุ

ศูนย์ซ่อมมาตรฐาน

โรงพยาบาลในเครือ

หน้าแรก > สาระน่ารู้ > 
สั่งพิมพ์หน้านี้     

รู้จัก กรมธรรม์ภัยพิบัติ

กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ จะให้ความคุ้มครองภัยพิบัติ 3 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ...xxxx

 

“กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ” จะให้ความคุ้มครองภัยพิบัติ 3 ภัย ได้แก่ น้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ ทั้งนี้ คำจำกัดความของคำว่า “ภัยพิบัติ” หมายถึง ภัยธรรมชาติที่เข้าลักษณะความรุนแรงถึงขั้นเป็นภัยพิบัติ ดังนี้

  • คณะรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรง ตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ
  • กรณีค่าสินไหมทดแทนรวมของผู้เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ มากกว่า 5,000 ล้านบาท ต่อหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยมีการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน ตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป หรือ
  • กรณีธรณีพิบัติ ความรุนแรงของแผ่นดินไหวตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป หรือ
  • กรณีวาตภัย ความเร็วของลมพายุตั้งแต่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมงขึ้นไป


    สำหรับธุรกิจ SME และอุตสาหกรรม ผู้เอาประกันที่ต้องการซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ จะต้องมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย หรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) เป็นกรมธรรม์ประกันภัยหลักก่อน

    “อนึ่ง ในกรณีอุทกภัย กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติจะไม่คุ้มครองทรัพย์สินที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ภาครัฐกำหนดให้เป็นพื้นที่รองรับน้ำ ซึ่งภาครัฐได้ให้ความช่วยเหลือโดยตรงอยู่แล้ว เช่น พื้นที่กักเก็บน้ำหรือทางน้ำผ่าน เป็นต้น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน”

 

วิธีการจ่ายค่าสินไหมทดแทน   

    บริษัทประกันภัยจะเข้าสำรวจและประเมินความเสียหาย โดยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ ยกเว้นกรณีอุทกภัยในกลุ่มบ้านอยู่อาศัย เนื่องจากมีผู้เอาประกันภัยเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อความสะดวก รวดเร็วในการจ่ายค่าสินไหมทดแทน จึงจะพิจารณาที่ระดับน้ำเป็นเกณฑ์

กลุ่มผู้เอาประกันภัย การจ่ายค่าสินไหมทดแทน ความเสียหายส่วนแรกที่ต้องรับผิดชอบเอง
บ้านอยู่อาศัย

กรณีอุทกภัย

(ในวงเงินความคุ้มครอง 100,000 บาท)
  • น้ำท่วมพื้นภายในบ้านความคุ้มครองขั้นต่ำ 30,000 บาท
  • น้ำท่วม 50 ซม. ความคุ้มครอง 50,000 บาท
  • น้ำท่วม 75 ซม. ความคุ้มครอง 75,000 บาท
  • น้ำท่วม 100 ซม. ความคุ้มครอง 100,000 บาท

กรณีวาตภัย/ธรณีพิบัติภัย

บริษัทประกันภัยสำรวจ และประเมินความเสียหายโดยจะจ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินจำกัดความรับผิดของกรมธรรม์ประกันภัย
ไม่มี
ธุรกิจ SME และ อุตสาหกรรม

กรณีอุทกภัย/วาตภัย/ธรณีพิบัติภัย

บริษัทประกันภัยจะเข้าสำรวจ และประเมินความเสียหาย โดยจะจ่ายตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินจำกัดความรับผิดชอบของกรมธรรม์ประกันภัย
5% ของการจำกัดความรับผิดชอบ

หมายเหตุ: การจ่ายค่าสินไหมทดแทนจะลดลงตามอัตราส่วนจำนวนเงินจำกัดความรับผิดชอบ ตามตาราง การจ่ายสินไหมทดแทนที่กำหนด

"คำถาม & คำตอบ กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ"
  1. ทำไมเราต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ
    คำตอบ : ปัจจุบันเกิดภัยธรรมชาติขึ้นอย่างบ่อยครั้ง เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ ซึ่งแต่ละครั้งก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมาก ดังนั้น เราควรซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองในทรัพย์สิน และเป็นการช่วยบรรเทาความเดือนร้อนทางการเงินในเบื้องต้นเมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้น
  2. ประชาชนสามารถซื้อความคุ้มครองบ้านที่อยู่อาศัย จากกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติมากกว่า 100,000 บาท หรือน้อยกว่า 100,000 บาทได้หรือไม่
    คำตอบ : ได้ทั้ง 2 กรณี กรณีซื้อความคุ้มครองน้อยกว่า 100,000 บาท เช่น 80,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะจ่ายเบี้ยประกันภัย 400 บาท ส่วนกรณีที่ซื้อความคุ้มครองเกิน 100,000 บาท ในส่วนความคุ้มครองที่เกิน ให้ประชาชนติดต่อบริษัทประกันภัยโดยตรงซึ่งบริษัทประกันภัยจะคิดอัตราเบี้ยประกันภัยตามอัตราตลาด
  3. กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติให้ความคุ้มครองในกรณีใดบ้าง
    คำตอบ : กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติจะให้ความคุ้มครองในกรณีที่คณะรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ภัยพิบัติรุนแรงตามคำแนะนำของกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือค่าสินไหมทดแทนรวมของผู้เอาประกันภัย ภายใต้กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติมากกว่า 5 พันล้านบาทต่อหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายใน 60 วัน โดยมีการเรียกค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่ 2 รายขึ้นไป หรือกรณีแผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงตั้งแต่ 7 ริกเตอร์ขึ้นไป หรือกรณีลมพายุที่มีความเร็วลมพายุตั้งแต่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
  4. กรณีประชาชนที่มีห้องพักอยู่ในคอนโดมิเนียมสูง ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม มีความจำเป็นอย่างไรที่จะต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ
    คำตอบ : ประชาชนที่มีห้องพักในคอนโดฯ สูง อาจไม่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมแต่ก็ยังมีความเสี่ยงจากภัยลมพายุ ภัยแผ่นดินไหวรวมถึงการเกิดสึนามิด้วยซึ่งหากประชาชนซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ ก็จะได้รับความคุ้มครองในทรัพย์สินที่เกิดความเสียหายจากภัยดังกล่าวด้วย
  5. กรณีที่ได้ทำประกันภัยบ้านที่อยู่อาศัยในวงเงิน 100,000 บาท และได้มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ เป็นจำนวนเงิน 75,000 บาทแล้ว ต่อมาเกิดแผ่นดินไหว 7.2 ริกเตอร์ บ้านได้รับความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 70,000 บาท ผู้เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่
    คำตอบ : ผู้เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไม่เกินจำนวนทุนประกันภัยที่เหลืออยู่ ดังนั้น ผู้เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 25,000 บาท
  6. กรณีเกิดน้ำท่วมรอบบริเวณบ้านสูงประมาณ 70 ซม. แต่ยังไม่ท่วมถึงพื้นบ้านจะได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติหรือไม่
    คำตอบ : กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยในกรณีน้ำท่วมพื้นภายในบ้าน หากน้ำท่วมรอบบริเวณแต่ไม่เข้าบ้านก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ
  7. กรณีทำประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัยแบบเดิม โดยขยายความคุ้มครองน้ำท่วมไว้ ต่อมาซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติเพิ่มแล้วปรากฏเหตุการณ์น้ำท่วมพื้นบ้านสูง 70 ซม. รัฐบาลประกาศเป็นภัยพิบัติ บ้านได้รับความเสียหาย 100,000 บาท การจ่ายสินไหมทดแทนจะจ่ายอย่างไร
    คำตอบ : ผู้เอาประกันภัยจะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 50,000 บาท ภายใต้ความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ และอีก 50,000 บาท จากความคุ้มครองน้ำท่วมของกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่ขยายความคุ้มครองไว้
  8. เราสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติได้จากที่ใด และกรณีเกิดปัญหา บริษัทประกันภัยปฏิเสธการขายและชำระค่าสินไหมทดแทนจะต้องดำเนินการอย่างไร
    คำตอบ : ประชาชนสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติได้จากบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ หากกรณีบริษัทรับประกันภัยปฏิเสธการขายกรมธรรม์ หรือการชำระค่าสินไหมทดแทน ผู้เอาประกันภัยสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงาน คปภ. ส่วนกลาง สำนักงาน คปภ.เขต และสำนักงาน คปภ.จังหวัดทั่วประเทศ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนประกันภัย 1186
  9. หากผู้เอาประกันภัยกลุ่มธุรกิจต้องการซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติทั่วไป โดยไม่ซื้อความคุ้มครองภัยพิบัติ ได้หรือไม่
    คำตอบ : ไม่ได้ การซื้อความคุ้มครองภัยธรรมชาติทั่วไปได้ จะมีเงื่อนไขให้แก่ผู้เอาประกันภัยต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติควบคู่ด้วยเสมอ
  10. หากผู้เอาประกันภัยกลุ่มธุรกิจต้องการซื้อความคุ้มครองภัยพิบัติต่ำกว่า 30% ของทุนประกันภัย เช่น 10% ทำได้หรือไม่
    คำตอบ : ได้ กรมธรรม์ประกันภัยพิบัติเป็นกรมธรรม์ประกันภัยแบบจำกัดความรับผิด สำหรับธุรกิจ SME และอุตสาหกรรม ผู้เอาประกันภัยสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองภัยพิบัติเท่าไหร่ก็ได้ แต่ไม่เกิน 30% ของทุนประกันภัย
  11. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และภัยพิบัติสำหรับที่อยู่อาศัยให้ความคุ้มครองอะไรบ้าง
    คำตอบ : กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และภัยพิบัติสำหรับที่อยู่อาศัยให้ความคุ้มครอง ไฟไหม้ ฟ้าฝ่า การระเบิดทุกชนิด ภัยจากยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ แต่ไม่รวมน้ำท่วม) และค่าเช่าที่อยู่อาศัยชั่วคราวที่เกิดจาก 6 ภัยแรก รวมถึงภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำท่วม แผ่นดินไหว และลมพายุ
  12. ถ้านายเสือได้ซื้อกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยไว้ และได้มีการซื้อภัยน้ำท่วมเพิ่มเติมก่อนวันที่ 28 เมษายน 2555 หากเกิดเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมขึ้นในเดือนมิถุนายน นายเสือได้รับความคุ้มครองตามความเสียหายที่เกิดขึ้นกับทรัพย์สินหรือไม่
    คำตอบ : ได้รับ เนื่องจากนายเสือได้รับความคุ้มครองภัยจากน้ำท่วมไว้
  13. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และภัยพิบัติสำหรับที่อยู่อาศัยให้ความคุ้มครอง 100,000 บาท เสียเบี้ยประกันภัย 500 บาท ใช่หรือไม่
    คำตอบ : ไม่ใช่ ความคุ้มครอง 100,000 บาทโดยจ่ายเบี้ยประกันภัย 500 บาท เป็นความคุ้มครองสำหรับภัยพิบัติ เจ้าของบ้านจะต้องเสียเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองอัคคีภัย ตามจำนวนเงินทุนเอาประกันภัยที่ต้องการซื้อ
  14. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยและภัยพิบัติสำหรับที่อยู่อาศัย สามารถทำในระยะยาวได้เหมือนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยหรือไม่
    คำตอบ : กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย และภัยพิบัติสำหรับที่อยู่อาศัยสามารถแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่งสำหรับความคุ้มครองอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ซึ่งระยะเวลาเอาประกันภัยสามารถทำเป็นระยะยาวได้ แต่ส่วนที่ 2 สำหรับความคุ้มครองภัยพิบัติมีระยะเวลาเอาประกันภัยเพียง 1 ปีเท่านั้น
  15. ประชาชนต้องทำอย่างไรในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ วิธีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นอย่างไร
    คำตอบ : ในกรณีเกิดเหตุภัยพิบัติ ให้ประชาชนรีบแจ้งบริษัทประกันภัย พร้อมเก็บรวบรวมเอกสารหลักฐานความเสียหาย และรายละเอียดของทรัพย์สิน โดยบริษัทประกันภัยจะเข้าสำรวจและประเมินความเสียหาย และจะจ่ายค่าสินไหมตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินวงเงินความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติ ยกเว้นกรณีภัยพิบัติน้ำท่วมบริษัทประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนโดยจะพิจารณาที่ระดับของน้ำเป็นเกณฑ์
  16. กรณีน้ำท่วมเฉพาะในโรงรถ โดยที่น้ำไม่ได้เข้าท่วมพื้นบ้าน ประชาชนจะสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้หรือไม่
    คำตอบ : ไม่ได้ เพราะว่าโรงรถไม่ได้ถือว่าเป็นพื้นที่ที่ใช้เพื่อการอยู่อาศัย
  17. ในกรณีที่เจ้าของบ้านมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยอยู่แล้ว สามารถซื้อเพิ่มเฉพาะความคุ้มครองภัยพิบัติได้หรือไม่
    คำตอบ : ได้ ในวงเงินความคุ้มครองไม่เกิน 100,000 บาท อัตราเบี้ยประกันภัย 0.5% ต่อปี จากบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการ
  18. หากเจ้าของกิจการมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย หรือมีกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (IAR) อยู่แล้ว เจ้าของกิจการจำเป็นต้องซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติจากบริษัทประกันภัยเดิมหรือไม่
    คำตอบ : ไม่จำเป็น ประชาชนสามารถซื้อกรมธรรม์ประกันภัยพิบัติเพิ่มจากบริษัทประกันภัยใดก็ได้ แต่ทั้งนี้ ถ้าซื้อที่บริษัทประกันภัยเดิมจะทำให้สะดวกและได้รับการชดเชยค่าสินไหมทดแทนที่เร็วขึ้น
  19. เมื่อกองทุนฯ เริ่มดำเนินการแล้ว บริษัทประกันภัยจะสามารถขายประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยแบบเดิมได้หรือไม่
    คำตอบ : ไม่ได้ เนื่องจากนายทะเบียนจะประกาศยกเลิกกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยแบบเดิม แต่กรมธรรม์ประกันภัยที่ได้ขายไปแล้ว บริษัทประกันภัยยังคงให้ความคุ้มครองจนกว่ากรมธรรม์ประกันภัยจะหมดอายุ
  20. ขั้นตอนการจ่ายสินไหมทดแทนของบ้านอยู่อาศัย ในกรณีภัยพิบัติน้ำท่วมมีข้อกำหนดอย่างไร
    คำตอบ : ประชาชนผู้เอาประกันภัยที่ประสบภัยพิบัติต้องยื่นหลักฐานรูปถ่ายบ้านน้ำท่วมพร้อมกับกรมธรรม์ประกันภัยอัคคีภัยและภัยพิบัติสำหรับที่อยู่อาศัยต่อบริษัทประกันภัย ทั้งนี้ จำนวนเงินความคุ้มครองขึ้นอยู่กับระดับความสูงของน้ำ
  21. การจำกัดความรับผิด (Sub limit) หมายความว่าอย่างไร และความรับผิดส่วนแรก (Deductible) หมายความว่าอะไร
    คำตอบ : การจำกัดความรับผิด (Sub limit) หมายความว่า การจำกัดความรับผิดในการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย / ควารมรับผิดส่วนแรก (Deductible) หมายถึง จำนวนค่าสินไหมทดแทนส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเอง
  22. ในกรณีที่เกิดสึนามิ และรัฐบาลประกาศให้เป็นภัยพิบัติ บริษัทประกันภัยจะใช้เกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมเดียวกับกรณีภัยพิบัติจากน้ำท่วมหรือไม่
    คำตอบ : ใช้เกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมตามความเสียหายที่เกิดจริงเหมือนกัน ยกเว้นกรณีภัยพิบัติจากน้ำท่วมในภาคครัวเรือน ที่เกณฑ์การจ่ายค่าสินไหมทดแทน โดยวัดจากระดับความสูงของน้ำ
  23. บริษัทประกันภัยจะขายความคุ้มครองภัยพิบัติส่วนที่เกินกว่าการจำกัดวงเงินความผิด (Sub limit) จากกองทุนฯ ได้เมื่อใด
    คำตอบ : บริษัทประกันภัยจะต้องให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยรายนั้น ๆ เต็ม Sub limit ที่กองทุนกำหนดก่อน จึงสามารถขายความคุ้มครองภัยพิบัติส่วนเกินจากจำนวนดังกล่าวได้
ที่มา : Insurance Circle ฉบับพิเศษ เดือนมีนาคม 2555 (สำนักงาน คปภ.)

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ:

บริษัท บางกอกสหประกันภัย จำกัด (มหาชน)
175-177 ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500
โทร. 0-2233-6920-9 ต่อ 424, 431 โทรสาร. 0-2237-1856
   กลับขึ้นด้านบน
หน้าแรก
สงวนลิขสิทธิ์ © 2011- 2014 บมจ. บางกอกสหประกันภัย